ค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน

ค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน

 

๑. เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 และ 2 กฎหมายให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้เพียงอย่างเดียว ดังนี้

 (๑) ผู้มีเงินได้สามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ ๔๐ ของเงินได้ แต่รวมกันต้องไม่เกิน ๖๐,๐๐๐ บาท   หมายถึง เงินได้พึงประเมินทั้งสองประเภทรวมกันแล้วหักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ ๔๐ แต่ไม่เกิน ๖๐,๐๐๐ บาท

 (๒) ในกรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ และความเป็นสามีภริยามีอยู่ตลอดปีภาษี ให้ต่างฝ่ายต่างหักค่าใช้จ่าย ได้ร้อยละ ๔๐ แต่ไม่เกินฝ่ายละ ๖๐,๐๐๐ บาท เช่นเดียวกับที่กล่าวใน (๑)

 

เงินได้พึงประเมินที่นายจ้างจ่ายครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน

กรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๑) และ (๒) เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน   และผู้มีเงินได้เลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่น ๆ ให้หักค่าใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังต่อไปนี้

 

ข้อ ๑   เงินได้พึงประเมินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานให้หมายถึงเงินได้ ดังต่อไปนี้

 (๑) เงินได้ที่คำนวณตามหลักเกณฑ์ และวิธีการเช่นเดียวกับวิธีการคำนวณบำเหน็จ ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จ บำนาญข้าราชการ

 (๒) เงินที่จ่ายจากกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

 (๓) เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน

 (๔) เงินได้พึงประเมินที่จ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานที่มีวิธีการคำนวณแตกต่างไปจากวิธีการตาม (๑)

 

ข้อ ๒ เงินได้พึงประเมินตามข้อ ๑ จะต้องมีเงื่อนไข ดังนี้

 (๑) มีระยะเวลาการทำงานไม่น้อยกว่า ๕ ปี

 (๒) ในกรณีที่มีการจ่ายเงินตามข้อ ๑ จากผู้จ่ายรายเดียวกันหลายครั้ง ไม่ว่าจะแบ่งจ่ายจากเงินประเภทเดียวกัน หรือหลายประเภท ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นๆ   ได้เฉพาะเงินได้ที่จ่าย ในปีภาษีแรกที่มีการจ่ายเงินได้ดังกล่าวเท่านั้น

 (๓) ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีในกรณีนี้ได้เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ไม่นำเงินได้พึงประเมินดังกล่าว ไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นๆ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

 

ข้อ ๓   เงินได้ที่จะนำมาเป็นฐานเพื่อคำนวณหาค่าใช้จ่ายให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังนี้

 (๑) กรณีได้รับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตาม ข้อ ๑ (๑) และหรือข้อ ๑ (๒) ให้นำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวมาเป็นฐานเพื่อคำนวณหาค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ ๕ ได้ทั้งจำนวน

 (๒) กรณีได้รับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามข้อ ๑ (๓) และหรือข้อ ๑ (๔) ประเภทเดียวกันหรือหลายประเภทก็ตาม โดยจ่ายให้พร้อมกันหรือทยอยจ่ายให้แต่อยู่ในปีภาษีเดียวกัน

ก. หากเงินได้พึงประเมินดังกล่าว รวมกันแล้วไม่เกินกว่าจำนวนเงินเดือนสำหรับรอบระยะเวลาเต็มเดือน เดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน ซึ่งเงินเดือนสำหรับรอบระยะเวลาเต็มเดือนสุดท้ายนี้ จะต้องไม่เกินเงินเดือน ถัวเฉลี่ยของ ๑๒เดือนสุดท้ายก่อนออกจากงานบวกด้วยร้อยละ ๑๐ ของเงินเดือนถัวเฉลี่ยนั้น ให้นำเงินได้พึงประเมิน ดังกล่าวมาเป็นฐานเพื่อคำนวณหาค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์ที่กำหนดใน ข้อ ๕ ได้ทั้งจำนวน

ข. หากเงินได้พึงประเมินดังกล่าว มีจำนวนเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตาม ก.ให้นำเงินได้พึงประเมิน ดัง- กล่าว มาเป็นฐานเพื่อคำนวณหาค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ ๕ ได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่า เกณฑ์ที่กำหนดไว้ตาม ก.

(๓) กรณีได้รับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามข้อ ๑ (๑) และหรือข้อ ๑ (๒) และยังได้รับ เงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามข้อ ๑ (๓) และหรือข้อ ๑ (๔) อีก โดยจ่ายให้พร้อมกันหรือทยอยจ่าย ให้แต่อยู่ในปีภาษีเดียวกัน หากเงินได้พึงประเมินดังกล่าวมีจำนวนเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ไว้ตาม (๒) ก. ให้นำเงินได้พึง ประเมินนั้นมาเป็นฐานเพื่อคำนวณหาค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ ๕  ได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกินเงินได้ตามข้อ ๑(๑) และหรือข้อ ๑ (๒) นั้น

ในกรณีเงินได้ดังกล่าวมีจำนวนไม่เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตาม (2) ก. ให้นำเงินได้พึงประเมินนั้นมาเป็นฐาน เพื่อคำนวณหาค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 5 ได้ทั้งจำนวน

 

ข้อ ๔    กรณีได้รับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตาม ข้อ 1 ที่ได้รับจากนายจ้างต่างรายกัน   ให้นำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวมารวมกัน แล้วจึงคำนวณเงินได้ที่จะนำมาหักค่าใช้จ่าย ตามเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 5 ตามหลัก

เกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามข้อ 3 ดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ ๕   จำนวนค่าใช้จ่าย

 (๑) ค่าใช้จ่ายส่วนแรก เท่ากับ 7,000 บาท คูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน แต่ไม่เกินเงินได้พึงประเมิน

ถ้าเงินได้พึงประเมินที่ได้รับดังกล่าว จ่ายในลักษณะเงินบำเหน็จจำนวนหนึ่ง และเงินบำนาญอีกจำนวนหนึ่ง   ค่าใช้จ่ายเฉพาะเงินที่จ่ายในลักษณะเงินบำเหน็จ ให้ลดลงเหลือเท่ากับ 3,500 บาท คูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน

 (๒) ค่าใช้จ่ายส่วนที่สอง เท่ากับจำนวนเงินได้ที่ถือเป็นเกณฑ์นำมาหักค่าใช้จ่ายได้ หักด้วยค่าใช้จ่ายส่วนแรก แล้วเหลือเท่าใด ให้หักค่าใช้จ่ายได้อีกร้อยละ ๕๐ ของส่วนที่เหลือนั้น

 

๒. เงินได้พึงประเมินประเภทที่ ๓   กฎหมายไม่ให้หักค่าใช้จ่ายใดๆ  เว้นค่าแห่งลิขสิทธิ์กฎหมายยอมให้หัก ค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ ๔๐ แต่ต้องไม่เกิน ๖๐,๐๐๐ บาท

           ในกรณีสามีและภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ประเภทนี้ และความเป็นสามีหรือภริยามีอยู่ตลอดปีภาษีให้ต่างฝ่ายต่าง หักค่าใช้จ่ายได้ตามเกณฑ์เดียวกัน

 

๓. เงินได้พึงประเมินประเภทที่ ๔    กฎหมายไม่ให้หักค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

 

๔. เงินได้พึงประเมินประเภทที่ ๕    กฎหมายให้หักค่าใช้จ่ายได้ดังนี้คือ

 (๑) การให้เช่าทรัพย์สิน ผู้มีเงินได้มีสิทธิเลือกหักค่าใช้จ่ายวิธีใดวิธีหนึ่งจาก ๒ วิธี ดังนี้

ก. หักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร หรือ

ข. หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราดังต่อไปนี้

๑. ถ้าเป็นบ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นหรือแพ ในกรณีเจ้าของเป็นผู้ให้เช่า ให้หักค่าใช้จ่าย เป็นการเหมาร้อยละ ๓๐ ในกรณีให้เช่าช่วงให้หักค่าใช้จ่ายได้เฉพาะค่าเช่าที่เสีย ให้แก่ผู้ให้เช่าเดิมหรือผู้ให้เช่า ช่วงแล้ว แต่กรณี

๒. ถ้าเป็นดินที่ใช้ในการเกษตรกรรม ในกรณีเจ้าของเป็นผู้ให้เช่าให้หัก ค่าใช้จ่าย เป็นการเหมา ร้อยละ ๒๐ ในกรณีให้เช่าช่วงให้หักค่าใช้จ่ายได้เฉพาะค่าเช่าที่เสียให้แก่ผู้เช่าเดิมหรือผู้ให้เช่าช่วง แล้วแต่กรณี

๓. ถ้าเป็นดินที่มิได้ใช้ในการเกษตรกรรม ในกรณีเจ้าของเป็นผู้ให้เช่าให้หัก ค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา ร้อยละ ๑๕ ในกรณีให้เช่าช่วงให้หักค่าใช้จ่ายได้เฉพาะค่าเช่าที่เสียให้แก่ผู้ให้เช่าเดิมหรือผู้ให้เช่าช่วง แล้วแต่กรณี

กรณีผู้ให้เช่าทรัพย์สินเรียกเก็บเงินกินเปล่า เงินแป๊ะเจี๊ยะ เงินค่าปลูกสร้างหรือค่าเซ้ง เงินค่าซ่อมแซม อีกส่วนหนึ่งนอกจากค่าเช่า เงินที่ได้รับนี้ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ซึ่งจะต้องนำมารวมคำนวณภาษีด้วย ผู้ให้เช่าซึ่งมีหน้าที่ เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาเฉลี่ยเป็นรายปีตามอายุของสัญญาเช่าแล้วยื่นแบบแสดงรายการ และชำระภาษีเงินได้เป็นการล่วงหน้า (ภ.ง.ด.๙๓) เป็นรายปี ให้เสร็จสิ้นไปในปีที่ได้รับเงินนั้น และเมื่อสิ้นปีปฏิทิน จะต้องนำเงินได้ที่เฉลี่ยรายปี รวมทั้งค่าเช่ารายเดือนและเงินได้อื่น ๆ (ถ้ามี) มารวม คำนวณเพื่อยื่นแบบแสดงรายการ และชำระภาษี (ภ.ง.ด.๙๐) ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไปทุกปี แล้วนำเงินภาษีที่ชำระไว้ล่วงหน้ามาเครดิต ออกจาก ภาษีที่คำนวณได้

 

กรณีที่เจ้าของที่ดินทำสัญญาให้ผู้อื่นทำการปลูกสร้างอาคารหรือโรงเรือนบนที่ดินของตน โดยผู้ปลูกสร้าง ยกกรรมสิทธิ์ในอาคารหรือโรงเรือนที่ปลูกสร้างนั้นให้แก่เจ้าของที่ดินเมื่อสร้างเสร็จ และเจ้าของที่ดินตกลงให้ผู้ปลูกสร้างเช่าหรือให้เช่าช่วงอาคาร หรือโรงเรือน หรือตกลงให้ผู้สร้างจัดหาผู้เช่าอาคารหรือโรงเรือนนั้นโดยตรง จากเจ้าของ ที่ดินเป็นการตอบแทนภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้คำนวณค่าแห่งอาคารหรือโรงเรือนนั้น เป็นเงินได้พึงประเมิน ของเจ้าของที่ดินตามจำนวนปีแห่งอายุการเช่า ในอัตราร้อยละของมูลค่าอาคาร หรือโรงเรือนในวันที่ได้รับกรรมสิทธิ์

คำว่า มูลค่าอาคารหรือโรงเรือน หมายความว่า ราคาหรือค่าอันพึงมีในวันที่ได้รับอาคารหรือโรงเรือน นั้นตามมาตรา 9 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีเงินได้ในกรณีดังกล่าว ราคาหรือค่าอันพึงมีในวันที่ได้รับอาคารหรือโรงเรือนนั้น ให้ถือราคาทุนที่แท้จริงของอาคาร หรือโรงเรือนในวันที่ได้รับกรรมสิทธิ์

๔. ถ้าเป็นยานพาหนะ ในกรณีเจ้าของเป็นผู้ให้เช่า ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ ๓๐ ในกรณีให้เช่าช่วง ให้หักค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าเช่าที่เสียให้แก่ผู้ให้เช่าเดิมหรือผู้ให้เช่าช่วงแล้วแต่กรณี

๕. ถ้าเป็นทรัพย์สินอย่างอื่น ในกรณีเจ้าของเป็นผู้ให้เช่า ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ ๑๐ ในกรณี ให้เช่าช่วงให้หักค่าใช้จ่ายได้เฉพาะค่าเช่าที่เสียให้แก่ ผู้ให้เช่าเดิมหรือผู้ให้เช่าช่วง แล้วแต่กรณี

 (๒) การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ ๒๐ ได้วิธีเดียว

 (๓) การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อนซึ่งผู้ขายได้รับคืนทรัพย์ที่ซื้อขายนั้นโดยไม่ต้องคืนเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับ ไว้แล้ว ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ ๒๐ ได้วิธีเดียว

 

๕. เงินได้พึงประเมินประเภทที่ ๖ กฎหมายให้หักค่าใช้จ่ายวิธีใดวิธีหนึ่งจาก 2 วิธี ดังนี้

(ก) หักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร หรือ

(ข) หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราดังต่อไปนี้

(๑) เงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระการประกอบโรคศิลปให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการ เหมาร้อยละ ๖๐

(๒) เงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระอื่นนอกจากการประกอบโรคศิลปให้หักค่าใช้จ่าย เป็นการเหมาร้อยละ ๓๐

 

๖. เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 7 กฎหมายให้หักค่าใช้จ่ายวิธีใดวิธีหนึ่งจาก ๒ วิธี ดังนี้

ก. หักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร หรือ .

ข. หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ ๗๐

 

๗. เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 ตามกฎหมายให้หักค่าใช้จ่ายได้ ๒ วิธีคือ

ก. หักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร หรือ

ข. หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา ตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ ๑๑)